จันทน์ขาว
ชื่อเครื่องยา | จันทน์ขาว |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | แก่นจันทน์ขาว |
ได้จาก | แก่น เนื้อไม้ |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | จันทน์ขาว |
ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา) | จันทน์ทนา จันทน์ใบเล็ก จันทน์หอม จันทน์ตะเบี้ย |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Tarenna hoaensis Pit. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Rubiaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
เนื้อไม้และแก่น มีสีออกน้ำตาลอ่อน หรือออกขาวนวล มีรสขม หวาน หรือรสขมเย็นระคนกัน
เครื่องยา จันทน์ขาว
เครื่องยา จันทน์ขาว
เครื่องยา จันทน์ขาว
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ไม่มีข้อมูล
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: ใช้เนื้อไม้บำรุงประสาท บำรุงเนื้อหนังให้สดชื่น แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ แก้ตับ ปอดและดีพิการ แก้เหงื่อตกหนัก ขับพยาธิ บำรุงธาตุไฟ บำรุงดวงจิตมิให้ขุ่นมัว แก้ไข้ที่เกิดจากตับและดี แก้ไข้ร้อน บำรุงเลือดลม บำรุงธาตุไฟให้สมบูรณ์ ทำให้เกิดปัญญาและราศี แม้มลทิน แก่น แก้ไข้กำเดา บำรุงหัวใจ แก้ลม แก้อ่อนเพลีย
ยาพื้นบ้านล้านนา: ใช้ แก่นจันทน์ขาว และจันทน์แดง ผสมกับสมุนไพรอื่นๆอีก 11 ชนิด ฝนกับน้ำข้าวเจ้า รับประทาน หรือทา รักษาโรคเลือดลม ถ้าเป็นมากจนตัวแดงเป็นลูกตำลึงสุก ให้นำมาทาด้วย
ตำรายาไทย: มีการใช้จันทน์ขาวใน “พิกัดเบญจโลธิกะ” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีคุณทำให้ชื่นใจ 5 อย่าง มี แก่นจันทน์ชะมด ต้นเนระพูสี ต้นมหาสะดำ แก่นจันทน์แดง และแก่นจันทน์ขาว สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อดี แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมวิงเวียน กล่อมพิษทั้งปวง และมีการใช้ใน “พิกัดจันทน์ทั้ง 5 “ คือการจำกัดจำนวนแก่นไม้จันทน์ 5 อย่าง มี แก่นจันทน์ชะมด แก่นจันทน์เทศ แก่นจันทน์ทนา แก่นจันทน์แดง และแก่นจันทน์ขาว สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อโลหิตและดี แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงตับปอดหัวใจ แก้พยาธิบาดแผล
ตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์: ปรากฏตำรับ “มโหสถธิจันทน์” ประกอบด้วย จันทน์ทั้ง 2 (จันทน์แดงและจันทน์ขาว) ร่วมกับสมุนไพรอื่นอีก 13 ชนิด สรรพคุณแก้ไข้ทั้งปวง ที่มีอาการตัวร้อน อาเจียนร่วมด้วยก็ได้
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้จันทน์ขาว ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของจันทน์ขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ยาแก้ไข้ปรากฏตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” มีส่วนประกอบของจันทน์ขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู “ตำรับยาเขียวหอม” มีส่วนประกอบของจันทน์ขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส)
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ไม่มีข้อมูล
องค์ประกอบทางเคมี:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และความสามารถในการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็ก
ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของสารประกอบฟีนอล สารประกอบฟลาโวนอยด์ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และความสามารถในการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็กของสารสกัดเอทานอลของ แก่นจันทน์ขาว พบว่าสารสกัดจากแก่นจันทน์ขาวมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 1.41 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (สารมาตรฐาน ascorbic acid มีค่า IC50 เท่ากับ 0.04มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) และความสามารถในการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็กมีค่า IC50 (ความเข้มข้นของสารสกัดสมุนไพรที่เกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็กได้ร้อยละ 50) เท่ากับ 21.10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (สารมาตรฐาน EDTA มีค่า IC50 เท่ากับ 0.04มิลลิกรัม/มิลลิลิตร)(เนื่องจากเหล็กอิสระที่มีอยู่ทั่วร่างกายสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดอนุมูลอิสระ คือ อนุมูลไฮดรอกซิล (OH•) จาก ซูเปอร์ออกไซด์ (O2•-) และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide, H2O2) ในปฎิกิริยา Fenton ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะ oxidative stress ตามมา) ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดสมุนไพรมีความสัมพันธ์กับปริมาณสารประกอบฟีนอลรวม และปริมาณสารประกอบฟลาโวนอยด์รวม แต่ความสามารถในการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็กของสารสกัดสมุนไพรไม่มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดสมุนไพร ปริมาณสารประกอบฟีนอลรวม และปริมาณสารประกอบฟลาโวนอยด์รวม (ธวัชชัย และคณะ, 2557)
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
ไม่มีข้อมูล
เอกสารอ้างอิง:
ธวัชชัย นาใจคง, อาซีด หวันยาวา, กฤตพงษ์ เก้าเอี้ยน, จตุพร คงสุขนิรันดร์, สนั่น ศุภธีรสกุล, มาลินี วงศ์นาวา และคณะ. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็กของสมุนไพรไทยบางชนิด. วารสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 2557;42(1):149-158.
ข้อมูลตำรับยาเขียวหอม : www.thai-remedy.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก : ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภชัยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี