เปราะหอม
ชื่อเครื่องยา | เปราะหอม |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | เหง้า |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | เปราะหอม |
ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา) | ว่านหอม ว่านตีนดิน ว่านแผ่นดินเย็น หอมเปราะ เปราะหอมขาว |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Kaempferia galanga L. |
ชื่อพ้อง | Alpinia sessilis J.Koenig, Kaempferia humilis Salisb., Kaempferia latifolia Donn ex Hornem., Kaempferia marginata Carey ex Roscoe, Kaempferia plantaginifolia Salisb., Kaempferia procumbens Noronha |
ชื่อวงศ์ | Zingiberaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
มีเหง้าสั้น ขนาดเล็ก เหง้าหลักทรงกลมผิวสีน้ำตาลอ่อน ที่ผิวมีรอยข้อปล้องชัดเจน ออกรากจากเหง้าหลักเป็นเส้นกลมยาว คล้ายกระชายเนื้อภายในเหง้าเมื่ออบแห้งแล้วมีสีขาว หรือสีเหลืองอ่อนๆ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เหง้าใต้ดิน รสผ็ดขม มีกลิ่นหอม
เครื่องยา เปราะหอม
เครื่องยา เปราะหอม
เปราะหอม (เหง้าสด)
เปราะหอม (เหง้าสด)
ดอกเปราะหอม
ลักษณะวิสัย เปราะหอม
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ไม่มีข้อมูล
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย หัวใต้ดิน รสเผ็ดขม สุมศรีษะเด็ก แก้หวัดคัดจมูก รับประทานขับลมในลำไส้ แก้เสมหะ เจริญไฟธาตุ แก้ลงท้อง แก้โลหิตซึ่งเจือด้วยลมพิษ
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ระบุการใช้เหง้าเปราะหอม ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของเหง้าเปราะหอม ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ และระบุการใช้เหง้าเปราะหอมร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ใน “ตำรับยาเขียวหอม” สรรพคุณ บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัด และอีสุกอีใส)
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ไม่มีข้อมูล
องค์ประกอบทางเคมี:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์กระตุ้นการนอนหลับ
การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการนอนหลับของสารสกัดเฮกเซนของเปราะหอม และสารบริสุทธิ์ 2 ชนิดได้แก่ compound 1: ethyl trans-p-methoxycinnamate และ compound 2: ethyl cinnamate โดยให้สารสกัดในขนาด 0.001, 0.01, 0.1, 0.5, 1, 1.5 และ 10 มิลลิกรัม และใช้ lavender oil ความเข้มข้น 0.05 มิลลิกรัม เป็นสารมาตรฐาน ทดสอบในหนูถีบจักรเพศผู้อายุ 5 สัปดาห์ ละลายสารทดสอบด้วย triethylcitrate และหยดลงบนกระดาษกรอง ที่วางไว้ในแท็งค์ ให้หนูสูดดมสารทดสอบภายในแทงค์ และทำการติดตามการตอบสนองทางด้านพฤติกรรมของหนูในการเดินข้ามจากด้านหนึ่งของแท็งค์มายังอีกบริเวณหนึ่ง เป็นเวลา 60 นาที ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเฮกเซนของเปราะหอมในขนาด 1.5 และ 10 มิลลิกรัม แสดงฤทธิ์กระตุ้นการนอนหลับ (ทำให้หนูหยุดอยู่ที่มุมแท็งค์ ลดการเคลื่อนไหว) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01 และ p < 0.05, ตามลำดับ) นอกจากนี้ compound 1 และ 2 ยังมีฤทธิ์ กระตุ้นการนอนหลับ เมื่อให้ในขนาด 0.0014 มิลลิกรัม และ 0.0012 มิลลิกรัม ตามลำดับ (Huang, et al., 2008)
ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส
การทดสอบสารสกัดน้ำ และเมทานอลของเปราะหอม ในการยับยั้งเชื้อ human immunodeficiency virus type 1 reverse transcriptase (HIV-1 rt) และ proteases จาก human immunodeficiency virus type 1 (HIV-1), hepatitis C virus (HCV) และ human cytomegalovirus (HCMV) จากผลการทดลองพบว่า สารสกัดเมทานอลสามารถยับยั้ง protease ทั้งสามชนิดได้ดี (Protease เป็นเอนไซม์ที่สำคัญของไวรัสในการแยก gag-pol polyprotein ให้เป็น reverse transcriptase, protease และ integase ซึ่งเป็นโปรตีนที่สำคัญของไวรัส HIV การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์นี้จะยับยั้งการติดเชื้อได้) การทดสอบสารบริสุทธิ์ 4-methoxy cinnamic acid ethyl ester และ 4-methoxy cinnamic acid ที่แยกได้จากเปราะหอม ต่อการยับยั้ง alpha-glucosidase (เนื่องจากอนุภาคไวรัสเมื่อเข้าสู่ร่างกายในขั้นแรกจะมีการเกาะติดระหว่างไกลโคโปรตีนของเชื้อ gp120 กับ CD4 receptor ซึ่งเป็น T-helper lymphocyte ของ host ในขั้นตอนนี้ถ้ายับยั้งการทำงานของ alpha-glucosidase ทำให้การสังเคราะห์ไกลโคโปรตีนของเชื้อไม่สมบูรณ์) จากการทดสอบพบว่า สารบริสุทธิ์ทั้ง 2 ชนิด สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase ได้สูงกว่าสารมาตรฐาน 1-deoxynojirimycin โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.05±0.03 และ 0.04±0.01 mM, deoxynojirimycin มีค่า IC50 เท่ากับ 5.60±0.42 mM (Sookkongwaree, 2004)
ฤทธิ์ต้านจุลชีพ
ศึกษาฤทธิ์ต้านจุลชีพของน้ำมันหอมระเหยจากเปราะหอมโดยทดสอบกับเชื้อ 7 ชนิด คือ E. coli, S.aureus, P.aeruginosa, B.subtills, S.faecalis, C.albicans และ M. gypseum พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากเปราะหอมสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อที่ทำให้เกิดแผลฝีหนอง S. aureus ได้ดี และสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ E.coli (ที่ทำให้เกิดท้องเสีย อาหารเป็นพิษ) จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีพบว่าน้ำมันหอมระเหย จากเปราะหอมมีองค์ประกอบหลักทางเคมี คือ (Z)-ethyl cinnamate ร้อยละ 46.60, 1,8’ cineole ร้อยละ 17.40 และ delta-3-carene ร้อยละ 11.19 (ณาตยาและคณะ, 1997)
การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของน้ำมันหอมระเหยในเหง้าของเปราะหอมที่กลั่นด้วยน้ำ วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีด้วยวิธี gas chromatography สารสำคัญที่แยกได้ ได้แก่ ethyl-p-methoxycinnamate (31.77%), methylcinnamate (23.23%), carvone (11.13%), eucalyptol (9.59%) และ pentadecane (6.41%) การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียด้วยวิธี agar disc diffusion พบว่าสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด โดยให้ค่า inhibition zone เท่ากับ 8.0 - 31.0 มิลลิเมตร สำหรับการทดสอบความเป็นพิษต่อไรทะเล (Brine shrimp toxicity test) ให้ค่าความเข้มข้นที่ทำให้ไรทะเลตายครึ่งหนึ่ง LC50 เท่ากับ 26.84 μg/ml ในขณะที่น้ำมันหอมระเหยไม่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH ในหลอดทดลอง ซึ่งเป็นวิธีทางเคมี (IC50>100 μg/ml) (สุภิญญา และคณะ, 2548)
ฤทธิื์แก้ไข้ บรรเทาปวด อักเสบ
การทดสอบฤทธิ์ระงับปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ ของสารสกัดเมทานอลของเปราะหอมขนาด 50, 100 และ 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในหนูถีบจักร และหนูขาวเพศผู้ โดยทดสอบฤทธิ์ระงับปวดด้วยวิธี writhing, formalin, hot plate และ tail flick ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วยการฉีด carrageenan บริเวณอุ้งเท้าหลังของหนู เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการบวม และใช้ cotton pellet เพื่อเหนี่ยวนำการสร้าง granuloma ส่วนการศึกษาฤทธิ์ลดไข้ใช้ brewer’s yeast เหนี่ยวนำให้เกิดไข้ เมื่อให้สารสกัดเปราะหอมขนาด 50,100 และ 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัมทางปาก พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิด abdominal writhing ได้ 42.75% ,59.57% และ 70.60% ตามลำดับ และลดเวลาการเลียอุ้งเท้าบริเวณที่ฉีด formalin ในช่วงต้น หรืออาการปวดแบบเฉียบพลัน (early phase) ได้ 28.77%, 32.56% และ 53.48% และช่วงปลาย หรือระยะอักเสบ (late phase) ได้ 68.94%, 78.76% และ 78.50% ตามลำดับ สารสกัดทุกขนาดทำให้ระยะเวลาเริ่มการตอบสนองต่อความเจ็บปวดของสัตว์ทดลองเพิ่มขึ้น ทั้งใน hot plate และ tail flick tests โดยเริ่มตอบสนองต่อความเจ็บปวดที่เวลา 45 นาที เมื่อให้ naloxone (2 มก/กก) สามารถต้านฤทธิ์ระงับปวดของ morphine (5 มก/กก) และสารสกัด (200 มก/กก) ในการทดสอบ hot plate และ tail flick test ได้ ส่วนการทดลองเพื่อศึกษาฤทธิ์ในการลดไข้ พบว่าสารสกัดไม่มีฤทธิ์ในการลดไข้ เมื่อทดลองด้วยวิธีการฉีด brewer’s yeast เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ในหนูขาว ในการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน เมื่อให้สารสกัดเมทานอลเปราะหอม ขนาดสูงสุด 5 mg/kg พบว่าไม่ทำให้สัตว์ทดลองตาย และไม่แสดงอาการความเป็นพิษจากสารสกัดเปราะหอม โดยสรุปสารสกัดเมทานอลจากเปราะหอม มีฤทธิ์ระงับปวดทั้งในระบบประสาทส่วนกลางระดับสมองและไขสันหลัง โดยสารสกัดออกฤทธิ์บางส่วนที่ opioid receptor และระบบประสาทส่วนปลาย จากผลการทดลองในการศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สารสกัดเมทานอลของเปราะหอมมีฤทธิ์ระงับปวด และต้านการอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการลดไข้ (Sae-Wong, 2007)
ฤทธิ์รักษาแผล
การศึกษาฤทธิ์ในการรักษาแผลของสารสกัดเอทานอลของเปราะหอม ในแผลผ่าตัด (excision wound) แผลเปิดที่เกิดจากการตัดผิวหนังส่วน full thickness ออกไป (incision wound) และแผลที่มีเนื้อตาย (dead space wound) การทดลองแบ่งสัตว์ทดลองออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับ 2 มล.ของ gum acacia 2% กลุ่มที่ 2 ได้รับสารสกัดเปราะหอม 300 mg/kg กลุ่มที่ 3 ได้รับยามาตรฐาน dexamethasone 0.17 mg/kg กลุ่มที่ 4 ได้รับ dexamethasone 0.17 mg/kg และ สารสกัดเปราะหอม 300 mg/kg มีพารามิเตอร์ในการติดตามผลการทดลอง คือ การเพิ่มขึ้นของ breaking strength (incision wound; บ่งบอกถึงความแข็งแรงของแผล) การสร้างเซลล์เยื่อบุผิว การปิดของแผล (excision wound) การเพิ่มขึ้นของเนื้อเยื่อ (granulation tissue), breaking strength, hydroxyproline content (กลุ่มแผลที่มีเนื้อตาย) การสร้างคอลลาเจนที่แผล วัดจากปริมาณ hydroxyproline ผลการทดลองพบว่า กลุ่มแผล incision wound ที่ได้รับ dexamethasone มี breaking strength ลดลง แต่หากได้รับ dexamethasone ร่วมกับสารสกัดเปราะหอมจะมี breaking strengthเพิ่มขึ้น กลุ่มแผลผ่าตัดพบการเพิ่มขึ้นของเปอร์เซ็นต์การปิดของแผล เฉพาะกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเปราะหอม และลดระยะเวลาในการการสร้างเซลล์เยื่อบุผิว และในแผลทั้งสามประเภทนั้นพบว่าใช้ระยะเวลาในการหายของแผลเมื่อให้สารสกัดเปราะหอมเร็วกว่า dexamethasone (Tara, et al., 2006)
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเหง้าด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,515 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)
การศึกษาด้านพิษวิทยาของสารสกัดเปราะหอม โดยการศึกษาด้านการระคายเคืองต่อผิวหนัง โดยใช้สารสกัดเฮกเซนจากเหง้าเปราะหอม ปริมาณ 0.5 ml (ความเข้มข้น 250 mg/ml) ทาบนผิวหนังกระต่าย เป็นเวลา 4 ชั่วโมง แล้วเช็ดออก จากนั้นสังเกตอาการบวม แดง ที่ผิวหนัง ตั้งแต่เวลา 30-60 นาที หลังให้สารทดสอบ และหลังจากนั้นอีก 24, 48, 72 ชั่วโมง พบว่าไม่เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังในช่วงเวลาที่ทดสอบ การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเอทานอลจากเหง้าเปราะหอม โดยให้สารสกัดขนาด 5 g/kg แก่หนูแรท ครั้งเดียว ไม่พบการตาย หรือการเกิดพิษใดต่อร่างกาย รวมทั้งอวัยวะและเนื้อเยื่อ การทดสอบพิษกึ่งเฉียบพลัน โดยให้สารสกัดขนาด 25, 50 และ 100 mg/kg ทุกวัน เป็นเวลา 28 วัน ผลการศึกษาไม่พบความผิดปกติของน้ำหนักตัว อวัยวะ และเนื้อเยื่อ ค่าชีวเคมีในเลือด และระดับเอนไซม์ตับปกติ แต่การให้ในขนาด 50 และ 100 mg/kg พบว่าทำให้ระดับ lymphocyte (เม็ดเลือดขาว) ลดลง (Kanjanapothi, et al., 2004)
เอกสารอ้างอิง:
1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
2. ณาตยา ธนะศิริวัฒนา, สุนิดา ณ ตะกั่วทุ่ง, ธนนันต์ ฐานะจาโร.องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านจุลชีพของน้ำมันหอมระเหยจากเปราะหอม กระชายดำ และเฒ่าหนังแห้ง.โครงการพิเศษคณะเภสัชศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.1997.
3. สุภิญญา ติ๋วตระกูล, สุปรียา ยืนยงสวัสดิ์, โสภา คำมี และ ลัทธยา อัศวจารุวรรณ.การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพของน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าเปราะหอม.วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.2548;27(Suppl 2):503-507.
4. Huang L, Yagura T, Chen S. Sedative activity of hexane extract of Keampferia galanga L. and its active compounds. J Ethnopharmacology. 2008;120:123-125.
5. Kanjanapothi D, Panthong A, Lertprasertsuke N, Taesotikul T, Rujjanawate C, Kaewpinit D, et al. Toxicity of crude rhizome extract of Kaempferia galanga L. (Proh Hom). J Ethnopharmacology. 2004;90:359–365.
6. Sae-Wong C. Studies on analgesic, antipyretic and anti-inflammatory activities of methanol extract of Kaempferia galanga L. in experimental animals . Master degree (Pharmacology). Songkla Province, Prince of Songkla University; 2007.
7. Sookkongwaree K. HIV-1 reverse transcriptase inhibitors from family Zingiberaceae. Doctoral Philosophy in Chemistry. Bangkok, Chulalongkorn University; 2004.
8. Tara SV, Chandrakala S, Sachidananda A, Kurady BL, Smita S, Ganesh S. Wound healing activity of alcoholic extract of Kaempferia Galanga in wistar rats. Indian J Physiol Pharmacol.2006;50(4):384–390.
ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ: www.thai-remedy.com
ข้อมูลตำรับยาเขียวหอม : www.thai-remedy.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก : ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภชัยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี